หน้าเว็บ

blogger นี้จัดทำขึ้นเพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในแต่ละภาคของประเทศไทยและเพื่อในการเรียนการสอนของวิชาอินเตอร์เน็ตและการสือสารในชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ปฎิทิน NewTang

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
ประวัติความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์" ขึ้น ในปีพ.ศ. 2504 และพระราชทานนามตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งเป็นที่ พระศาสนโสภณ เป็นผู้คิดชื่อถวาย โดยทรงเลือกจาก 1 ใน 2 ชื่อ คือ “พิงคัมพร” กับ “ภูพิงคราชนิเวศน์” การก่อสร้างพระตำหนักใช้เวลา 5 เดือน จึงแล้วเสร็จ การออกแบบเป็นแบบไทยประยุกต์ ดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้แบบสากลมากขึ้น

พระตำหนักแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงงานและเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะ ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในโอกาสต่างๆ การที่ทรงเลือกสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีอากาศเย็นสบาย ภูมิประเทศสวยงาม อีกทั้งเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน ผู้คนพลเมืองยังดำรงรักษาจารีตขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามไว้

พระตำหนักแห่งนี้ได้ใช้ในการรับรองพระราชอาคันตุกะเป็นครั้งแรกคือ สมเด็จพระเจ้าเฟรดเดริคที่ 9 และ สมเด็จพระราชินีอินกริด แห่งเดนมาร์ก เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2502 หลังจากนั้นก็มีประมุขของประเทศต่างๆ เป็นพระราชอาคันตุกะ มาประทับและพักที่พระตำหนักภูพิงค์ฯ ในเวลาต่อมาอีกหลายประเทศ เช่น สมเด็จพระนางเจ้าจูเลียน่า และเจ้าชายเบอร์ฮาร์ท จากประเทศเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง และพระราชินีฟาบิโอล่า แห่งประเทศเบลเยี่ยม ฯลฯ เป็นต้น ส่วนตัวอาคารอื่นๆ ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง

ข้อมูลทั่วไป

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,373 เมตร มีเนื้อที่โดยรอบพระตำหนักประมาณ 400 ไร่ แบ่งเป็นบริเวณที่ เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมประมาณ 200 ไร่

เส้นทางเที่ยวชมพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

1.เรือนปีกไม้
เป็นลักษณะที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชดกุมารี หรือพระราชอาคันตุกะและผู้ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ.ให้พัก

2. เรือนรับรอง
เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างแบบไทยประยุกต์ ใช้เป็นที่พักของพระราชอาคันตุกะ และข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จฯ นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่รับรองแขกในระหว่างที่รอเข้าเฝ้าฯ หรือรอเข้าร่วมงานพระราชทานเลี้ยง

3. พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ มีลักษณะเป็นแผนผังแบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่า “เรือนหมู่” มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นไทยประเพณีประยุกต์ ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงหลังคาทรงไทย ภายในประกอบไปด้วยท้องพระโรง ห้องเสวย ห้องบรรทม และห้องสรง สำหรับพระราชอาคันตุกะ ตั้งอยู่คนละด้าน มีเฉลียงใหญ่ และพลับพลาหอนกเป็นที่ประทับทอดพระเนตรทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ ชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของมหาดเล็ก และคุณข้าหลวง

4. พลับพลาผาหมอนและสวนเฟิร์น
เป็นเนินเขาเตี้ยๆ แต่เดิมปลูกต้นไม้แบบสวนป่าธรรมชาติ มีกระท่อมแบบชาวเขา สร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงแฝก ใช้เป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถและเสวยพระกระยาหารในบางครั้ง ต่อมาได้มีการสร้างพลับพลาที่ประทับทำด้วยไม้สักทองแทนกระท่อมชาวเขา

ส่วนสวนเฟิร์นธรรมชาติ รอบผาหมอนได้เริ่มดำเนินงานเมื่อพ.ศ. 2536 โดยมีการนำเอาต้นเฟิร์นชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มาออกแบบตกแต่งใหม่ให้กลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด ต้นเฟิร์นหลายต้นที่ปลูกในบริเวณนี้มีอายุประมาณ 60-100 ปี ซึ่งเป็นเฟิร์นพวกกูดต้น Tree ferns วงศ์ Cyatheaceae

5. อ่างเก็บน้ำ/น้ำพุ "ทิพย์ธาราของปวงชน"
เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่กักน้ำไว้ใช้ในบริเวณพระตำหนัก ริมอ่างเก็บน้ำด้านข้าง มีพลับพลาที่ประทับสร้างด้วยไม้สักทอง รอบๆ อ่างเก็บน้ำจะเป็นสวนดอกไม้เมืองหนาวที่จัดเป็นทั้งแบบประดิษฐ์ และแบบธรรมชาติ

6. พระตำหนักสิริส่องภูพิงค์
มีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า "พระตำหนักยูคาลิปตัส" ก่อสร้างตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงให้นำไม้ยูคาลิปตัสมาทดลองใช้ประโยชน์ ในการก่อสร้างที่พักอาศัยในรูปแบบ Log Cabin เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2534 และก่อสร้างพร้อมตกแต่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2535

7. พระตำหนักพยัคฆ์สถิต
เป็นพระตำหนักยูคาลิปตัสแบบ Log Cabin อีกหลังหนึ่ง ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้สร้างขึ้น เพื่อพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร สำหรับทรงใช้เป็นที่ประทับ โดยก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2536

8. พระตำหนักพฤกษาวิสุทธิคุณ
เป็นอาคาร 2 ชั้น มีชั้นใต้ดิน ตั้งอยู่บนเนิน เป็นสถาปัตยกรรมไทยภาคกลางผสมกับภาคเหนือ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

9. สวนสุวรี
เป็นสวนกุหลาบที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ดำเนินการจัดสร้างเมื่อพ.ศ. 2542 และพระราชทานนามว่า "สวนสุวรี" เพื่อเป็นการรำกถึงท่านผู้หญิงสุวรี เทพาคำ นางสนองพระโอษฐ์ที่ถึงอนิจกรรมไปแล้ว

10. หอพระ
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ทรงสักการะ เมือเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม เป็นหอขนาดเล็กแบบไทยล้านนาประยุกต์ ยกพื้น

จุดเด่นหรือสิ่งที่น่าสนใจ

จุดเด่นของพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศ คือ สวนกุหลาบและดอกไม้นานาพันธุ์ โดยเฉพาะกุหลาบที่นำมาปลูกที่พระตำหนักภูพิงค์ ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ที่สั่งมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่เริ่มมีการปลูกกุหลาบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ทำให้พันธุ์กุหลาบที่นำมาปลูกมีมากกว่า 200 พันธุ์ ทั้งพันธุ์เก่าที่ออกเผยแพร่นานแล้ว จนถึงพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งจะนำออกมาเผยแพร่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแยกได้เป็น 5 ประเภท คือ กุหลาบดอกเดี่ยว กุหลาบพวง กุหลาบพวงดอกใหญ่ กุหลาบหนู และกุหลาบเลื้อยเวลาทำการ
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.30 – 16.30 น.
เวลาจำหน่ายบัตร 08.30 – 11.30 น., 13.00 - 15.30 น.

*งดการเข้าชมในระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน เดือนมกราคม-ต้นเดือนมีนาคม
**กรุณาแต่งกายสุภาพ ห้ามใส่กางเกงขาสั้น, กระโปรงสั้น, เสื้อแขนกุด

ค่าเข้าชม
ผู้ใหญ่ 20 บาท
เด็กนักเรียน 10 บาท
ชาวต่างชาติ 50 บาท

มีบริการรถไฟฟ้านำเที่ยว (บริษัทเอกชน) ค่าบริการ 300 บาท/คัน (นั่งได้ไม่เกิน 3 ท่าน)

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
โทรศัพท์: 053-223-065
อีเมล์: info@bhubingpalace.org

ข้อแนะนำเมื่อเข้าชมพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

  • ห้ามส่งเสียงดังหรือก่อความไม่สงบในลักษณะใดๆ
  • ห้ามเข้าแปลงดอกไม้และสนามหญ้า, ห้ามเด็ดดอกไม้
  • ห้ามพกพาอาวุธทุกชนิด
  • ห้ามนำสุนัขและสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าโดยเด็ดขาด
  • โปรดแต่งกายให้เหมาะสม ห้ามสวมกางเกงขาสั้น, เสื้อกล้ามและเสื้อแขนกุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น